ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาตินำเสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากในโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากภาคการเกษตรในโครงการ “ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” นำร่องกลุ่มประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ณ อาคารศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดยได้เสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาภาคการเกษตรตามความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร ซึ่งจะแตกต่างไปตามภูมินิเวศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากต้องพัฒนาจากล่างขึ้นบน โดยเกษตรกรจะมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่ต้องเพิ่มการผสมผสานการแปรรูปผลผลิต การส่งเสริมการตลาด 2.เกษตรกรรุ่นใหม่จะใช้เทคโนโลยีในการผลิต แปรรูปการตลาด ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การสนับสนุนทั้งความรู้และการเงิน แก่เกษตรกร ชุมชน การสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
สภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาร่วมประชุมประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง
เมื่อวันที่ 27 ต.ค.62 นายเติมศักด์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าประชุมหารือร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 ณ ห้องประชุมเวสสุวัณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสาปะหลัง(นบมส.)และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการประชุมครม.สัญจรที่ จ.กาญจนบุรี ในวันที่ 12 พ.ย.62 และเมื่อ ครม.เห็นชอบ ก็จะเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติและจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เบื้องต้นที่ประชุมหารือประกันราคาหัวมันที่เชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท โดยคิดจากต้นทุนที่กิโลกรัมละ 1 บาท 85 สตางค์ ค่าขนส่ง 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม และผลตอบแทน 20% หรือกิโลกรัมละ 40 สตางค์ กำหนดครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ตัน เกษตรกรจะต้องไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในฤดูการผลิตปีนี้ โดยจะจ่ายเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)และจะทยอยจ่ายทุกเดือนจนหมดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน โดยวงเงินที่ใช้งบประมาณ 9,400 ล้านบาท ถัดจากนี้กรมการค้าภายใน(ฝ่ายเลขานุการ)จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสาปะหลัง(นบมส.) ในการประชุมกันวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่จังหวัดกาญจนบุรีและนำเข้าที่ประชุมครม.ต่อไป
สภาเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสนอภาครัฐเร่งหาแนวทางบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกรจากการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด
นายอานนท์ โลดทนงค์ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ยอมรับว่าแม้จะไม่กระทบกับพืชเศรษฐกิจหลักคือสับปะรดและมะพร้าวมากนัก แต่อาจจะกระทบกับเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่ที่ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีดังกล่าว เช่น เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ขนุน รวมถึงไร่อ้อยบางส่วน เป็นต้น ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 ซึ่งอยากให้ภาครัฐมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยหาสารกำจัดวัชพืชที่สามารถใช้ทดแทนพาราควอต และไกลโฟเซต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาไม่สูงและปลอดภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเพาะปลูกและต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ส่วนการที่ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ยังกังวลเรื่องกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องต้นทุนการผลิตของเกษตรกรด้วย