นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ(สกช.)จัดโครงการขับเคลื่อน “การพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” โดยกระจายทั่วประเทศ เริ่มเวทีแรกที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เวทีต่อไปเป็นจังหวัดสกลนคร วันที่ 1 เมษายน 2562 ที่โรงแรมพี.ซี.พาเลซ สกลนคร ต่อด้วยจังหวัดอุทัยธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯได้เข้าใจในมาตรการของรัฐที่จะมีผลบังคับใช้เรื่องการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับกัญชาจากยาเสพติดสู่ยารักษาโรค ผู้เข้าร่วมโครงการฯจะได้ทราบถึงนโยบายของสภาเกษตรกรแห่งชาติถึงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และจะได้ทราบถึงมาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับองค์ความรู้และวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการผลิต รวมทั้งการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อรักษาโรค ตลอดจนการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้กรอบกฎหมายที่ถูกต้อง ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติขับเคลื่อนเรื่อง “กัญชา” มาตั้งแต่ปี 2559 จัดเวทีแรกที่อาคารพึ่งบุญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกคนได้รับรู้ว่ากัญชานั้นรักษาโรคได้และได้อย่างไร ถึงแม้เกิดการสะดุดด้วยเข้าใจกันคลาดเคลื่อนแต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ชี้แจงและเผยแพร่ความรู้ความจริงสู่ประชาชนทั้งประเทศ จนถึง ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าคนไทยมีความรู้เรื่องกัญชาอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงการนำไปสู่การออกกฎหมายซึ่งให้เวลาขึ้นทะเบียน 90 วัน ซึ่งขณะนี้สภาเกษตรกรจังหวัดได้ลงพื้นที่ไปสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย สัมภาษณ์ ตอบแบบสอบถาม ถ่ายรูป รายละเอียดเก็บเอกสารทั้งหมดแล้วตั้งใจไปยื่นจดทะเบียนพร้อมกันทั้งประเทศในวันเดียวก่อนหมดเขต 17 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงให้สะเทือนทั้งแผ่นดิน ให้ได้รับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนป่วยที่อยู่ห่างไกลตามชนบท ภูเขาสูงชันจะมาขึ้นทะเบียนได้อย่างไร ทำไมไม่อำนวยความสะดวกให้อย่างแท้จริง เจตนาที่สภาเกษตรกรแห่งชาติขับเคลื่อนงานกัญชาเพื่อให้เกษตรกร ประชาชน ผู้ป่วยได้ผลิตยาเพื่อรักษาตัวเองและเครือข่ายในพื้นที่ สภาเกษตรกรฯต่อต้านการผูกขาดทุกรูปแบบและไม่เห็นด้วยเรื่องเสรีกัญชา เพราะโครงสร้างของรัฐถูกออกแบบไว้สำหรับคนมือยาวทุนยาวเท่านั้น เกษตรกรรายย่อยไม่มีทางสู้ได้ ระบบเศรษฐกิจไทยคือการจัดตั้งองค์กร ส่งเสริมการปลูก รับซื้อผลผลิตราคาถูก นำไปแปรรูปขายราคาแพง ที่เห็นกันอยู่ในพืชเศรษฐกิจที่ราคาตกต่ำรัฐต้องอุ้มตลอด อาทิเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ถ้าปล่อยเสรีกัญชาเกษตรกรต้องนั่งน้ำตาร่วงเหมือนเดิม สภาเกษตรกรฯต้องการให้อนุญาตเกษตรกรปลูกกัญชาในพื้นที่ ถ้ามันคือการสร้างคนรวยก็ต้องรวยในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไม่ใช่สร้างให้รวยคนเดียวในประเทศไทย สภาเกษตรกรฯต้องการให้เศรษฐกิจไหลกลับลงสู่เกษตรกรทั้งแผ่นดิน
“ความฝันคือเมื่อสภาเกษตรกรแห่งชาติผลักดันกัญชาจนทะลุแล้ว ทั้งประเทศจะมีการจัดสัมมนา เสวนา เวิร์กช็อปเรื่องสายพันธุ์กัญชาของจังหวัดตัวเองมีอะไรบ้าง นำมาประชัน เข้าห้องแล๊บดูว่าสายพันธุ์ไหนดีที่สุดในประเทศไทย ในโลก วิธีการสกัดของแต่ละที่ ฯลฯ เมื่อถูกกฎหมาย ช้าหรือเร็วสิ่งเหล่านี้ควรต้องเกิดขึ้น” นายประพัฒน์ กล่าว
นายประพัฒน์กล่าวย้ำเจตนารมณ์ ว่า สภาเกษตรกรฯต้องการช่วยคนป่วย ช่วยเกษตรกร ไม่ต้องการให้ปลูกกัญชาสร้างความร่ำรวยด้วยการไปหลอกชาวบ้านให้เตรียมปลูกกัญชาทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน กฎหมายไปไม่ไกลขนาดนั้น และไม่เห็นด้วยที่จะไปไกลขนาดนั้น ต้องการส่งเสริมให้เดินอย่างมีสติตามจังหวะที่ควรจะไป ไม่ต้องการเดินก้าวหน้าเกินกว่าแล้วประชาชนตามไม่ทันเกิดปัญหาตามมาทีหลัง ถ้าดีก็เดินต่อไปด้วยกัน ไม่ดีก็ถอยมาตั้งหลักแบบไม่ล้ม และหาก UN บรรจุวาระประกาศว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ทั้งโลกต้องแก้กฎหมายตาม และผลิตขายที่ต่างประเทศได้ ให้เตรียมสายพันธุ์ที่ดีปลูกเพื่อการส่งออกนำเงินเข้าประเทศและนำเงินเหล่านั้นไหลกลับสู่เกษตรกรเพื่อความมั่นคงต่อไป
…………………………………………………………………..
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
อำนวยการข่าว : เดชา บุญโต