ข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำวันพุธที่ 6 มีนาคม 2562
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติระบุ หลังการเลือกตั้ง “กัญชา” จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2562 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงในทางการแพทย์และอาหาร” ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ทแอนด์สปา จ.นครสวรรค์ ว่า สภาเกษตรกรร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันงานวิจัยสารสกัดกัญชาที่เกี่ยวกับยาและอาหารมาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากเกษตรกรเสียชีวิตไปจำนวนมากจากโรคเรื้อรังและก่อนเสียชีวิตใช้เงินในการรักษารายละประมาณ 3,000,000 บาท โดย 3 ปีที่ผ่านมาทีมงานเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ตลอด ขณะนี้ประเทศไทยมีช่องทางที่จะทำให้กัญชาเป็นทางเลือกใหม่ของพืชเศรษฐกิจ ในตลาดมืดปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท ประเทศเพื่อนบ้านกิโลกรัมละ 5,000 บาท พื้นที่ 1 ไร่ มีผลผลิตกัญชาประมาณ รอบละ 500 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ใน 1 ปี จะปลูกได้ 3 รอบ ผลผลิตรวมไร่ละ 1,500 กิโลกรัม หากกิโลกรัมละ 1,000 บาท ในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 1,500,000 บาท สามารถปลดหนี้สินที่มีได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ การปลูกยังจำกัดขอบเขตในกลุ่มสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนทางการแพทย์ ผู้ปลูกต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร ต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือผู้วิจัย หลังจากนั้นจึงเสนอขออนุญาตรัฐบาลตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกร รวมทั้ง “ไผ่” พืชหลากมิติซึ่งเป็นพืชที่สภาเกษตรกรฯผลักดันเช่นกัน
สภาเกษตรกรแห่งชาติประกาศต่อต้านการผูกขาดกัญชา โดยร่วมมือกับ ม.รังสิต พัฒนาเพื่อการแพทย์
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2562 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ลงนามร่วมกับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและเอกชนที่จะผลักดันพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป (ปล่อยเสียง นายประพัฒน์)
สภาเกษตรกรฯร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯพัฒนาผู้ประกอบการใหม่
ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ปี 2562” ใน 5 จังหวัด.คือ สระบุรี นครนายก ชลบุรี กาญจนบุรีและอยุธยา กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรรุ่นใหม่และตัวแทนองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยจะมีการให้ความรู้เบื้องต้นในการยกระดับศักยภาพ จากนั้นคัดเกษตรกรที่มีความพร้อมให้ทำแผนธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเชื่อมโยงด้านการตลาด ด้านเงินทุน ยกระดับเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดโครงการไปแล้ว 1 รุ่น เมื่อวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค.ที่ จ.สระบุรี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 100 คน และจะทยอยจัดจนครบ 5 จังหวัดภายในเดือน มิ.ย.นี้