นางจันทนา มณีโชติ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า จ.สระบุรี เปิดเผยว่า “กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2559 ด้วย ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ มีพืชประจำถิ่นขึ้นชื่อ คือ “ผักหวานป่า” เป็นพืชยืนต้น อายุยืนนานไม่ต้องดูแลมากนัก ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในระยะยาวนาน ปลูกร่วมกับข้าวโพด มันแกว หรือพืชผักอื่นๆ และด้วยลักษณะดิน สภาพพื้นที่และสภาพอากาศเหมาะสมในการปลูก ในขณะที่อำเภอใกล้เคียงไม่สามารถปลูกได้ด้วยปัญหาจากน้ำท่วมขังและการบำรุง เดิมจะจำหน่ายยอดสดในราคาประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท แต่บางฤดูกาลผลผลิตมีปริมาณมากทำให้ราคาลดลงไม่คุ้มต้นทุนค่าปลูก “ผักหวานป่า” สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงเลียง แกงจืด แกงส้ม ทอดกรอบ ชุบไข่และยังนิยมนำผักหวานมาแกล้มอาหารรสจัดจำพวกส้มตำและลาบ หรือจิ้มกับแจ่วและน้ำพริกได้ทุกชนิด ประโยชน์ของผักหวานป่าคนโบราณนิยมนำมาทำยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคได้หลายชนิด ใบและรากมีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ รากเป็นยาฤทธิ์เย็นแก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก่นของต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อ และอื่นๆ “ผักหวานป่า” เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน วิตามินเอ ซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใยอาหารอยู่พอสมควรจึงช่วยในการขับถ่ายได้ดี และเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบตาแคโรทีน และสารประกอบฟีนอลิก เป็นต้น
“กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า” ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน ได้นำยอดผักหวานป่าที่ผลิตได้ในตำบลและได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด การันตีด้วยประสบการณ์ของสมาชิกในกลุ่มที่แปรรูปผักหวานป่ามานานกว่า 10 ปี ยอดขายดีคือ ทองม้วน กำลังการผลิต 5,000 ถุง/ปี ผูกมัดใจลูกค้าด้วยความหอม กลมกล่อม ไม่หวานมาก มัน กรอบ ไม่แตกหักง่าย ซึ่งช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาผลิตไม่พอขาย น้ำผักหวานป่าพร้อมดื่ม กำลังการผลิต 20,000 ขวด/ปี รสชาติหวานกำลังดี หอม ชุ่มคอ ดับกระหาย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กลุ่มฯที่ยอดจำหน่ายไม่น้อยหน้า คือข้าวเกรียบและชาผักหวานป่า ซึ่งกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์กลุ่มฯจะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้านน.ส.อรอนง ขำวงษ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2559 สภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรีได้เข้าไปที่กลุ่มฯให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มกัน จัดตั้งและขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกร พร้อมกับประสานนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้องค์ความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ ปี 2560 พาสมาชิกและผู้นำกลุ่มเข้าอบรมโครงการ Start Up เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรกับสภาอุตสาหกรรม ส่วนในปี 2561 เร่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มด้วยการประสานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อสนับสนุนเตาชีวมวลประหยัดพลังงานให้กับกลุ่ม ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มผลิตผักหวานป่ามีคุณภาพ มาตรฐาน GAP ทุกคน ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ “กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า” ปลอดภัยแน่นอน โดยผู้ที่รักสุขภาพทุกช่วงวัยไม่ควรพลาดความอร่อยและคุณประโยชน์ ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อแล้วส่งทางไปรษณีย์ได้ที่ คุณจันทนา มณีโชติ กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า หมายเลขโทรศัพท์ 08 – 7129 – 6207 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 036 – 713 – 311
……………………………………………………………………………
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : สภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี
อำนวยการข่าว : เดชา บุญโต