


นายภาสันต์ นุพาสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการนำปฏิรูปภาคการเกษตรของสภาเกษตรกรแห่งชาติโดยให้เกษตรกรแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้วจึงขาย เป้าหมายต่อไปคือการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปซึ่งเห็นว่าการทำให้พื้นที่การเกษตรเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการตลาดที่ดีช่องทางหนึ่งจึงประสานงานกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรีเพื่อเรียนรู้การบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน)(อพท.) ณ วิสาหกิจชุมชนตะเคียนเตี้ย (บ้านร้อยเสา) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในอดีตชุมชนตะเคียนเตี้ยมีอาชีพทำนา น้ำสมบูรณ์ตลอดทั้งปีแต่ต่อมาน้ำที่ใช้ทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกมะพร้าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จนปัจจุบันมีการทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น แต่มะพร้าวยังถือเป็นพืชหลักของชุมชนโดยสามารถใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้หลากหลายและที่สร้างชื่อให้กับชุมชนคือ “แกงไก่กะลา”



โดยนางอภิญญา ทิพนาค (ป้าแป๊ด) อายุ 54 ปี ชาวบ้านตะเคียนเตี้ยผู้ปลูกมะพร้าวพันธุ์หมูสีซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองเล่าให้ฟังว่า ปลูกมะพร้าวพันธุ์ดังกล่าวพื้นที่ 2 ไร่ มะพร้าวหมูสีเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของที่นี่เป็นพันธุ์กินผลอ่อน น้ำมีรสชาติหวานแต่ไม่หอม ที่รอบหัวจุกมะพร้าวจะเป็นสีขาวเมื่อดึงขั้วจุกออกจะมีสีชมพูยังไม่มีเนื้อมะพร้าวเป็นกะลาอ่อนรสชาติกรุบ กรอบ มัน หวานอ่อน หอมมะพร้าวอ่อน อร่อย หากรอบขั้วจุกมะพร้าวเป็นสีเขียวจะมีเนื้อมะพร้าวใช้กินไม่ได้เพราะกะลาจะมีรสฝาด คนในชุมชนตะเคียนเตี้ยกินกะลามะพร้าวอ่อนกันมานาน และขายเป็นมะพร้าวกินผลอ่อนโดยนำกะลามาบริโภคเป็นอาหารราคาขายอยู่ที่ลูกละ 25-30 บาท ซึ่งกะลามะพร้าวอ่อนจะเก็บได้เมื่อลูกมะพร้าวออกทะลาย 2-3 เดือน ใน 1 ปีจะมีผลผลิต 12 ทะลายต่อต้น หากเป็นมะพร้าวที่แก่กว่านี้ราคาขายอยู่ที่ลูกละ 4-5 บาท ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆแทน ผลผลิตกะลามะพร้าวอ่อนมีทุกวันและยอดสั่งจองก็มีทุกวันเช่นเดียวกัน ในการผลิตกะลามะพร้าวอ่อนเพื่อการบริโภคนั้นจะนำส่วนกะลาอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 1 รอบการผลิตใช้มะพร้าว 50 ลูก ได้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม เนื้อกะลามะพร้าวอ่อนสีไม่คล้ำเคล็ดลับคือเมื่อฝานเนื้อกะลาแล้วนำแช่ในน้ำหมักมะนาวที่ผสมกับน้ำตาลทรายแดง ซึ่งป้าแป๊ดตั้งราคาขายไว้ที่กรัมละ 1 บาท กิโลกรัมละ 1,000 บาท มียอดสั่งจองจากร้านอาหารเส้นถนนสาธร ครัวขึ้นชื่ออีกหลายแห่งในกรุงเทพฯจนผลิตไม่ทัน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนตะเคียนเตี้ย เมนูที่ต้องลิ้มลองคือ แกงไก่กะลา , ผัดฉ่ากะลาอ่อนใส่กุ้ง สูตรพื้นถิ่นด้วยส่วนประกอบสำคัญคือกระเพรา 100 ปี พันธุ์ดั้งเดิมที่อนุรักษ์ปลูกเฉพาะชุมชนตะเคียนเตี้ยด้วยกลิ่นหอม ฉุน ไม่เหมือนสายพันธุ์จากแหล่งอื่นจึงทำให้อร่อยล้ำไม่ควรพลาด



อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ชุมชนตะเคียนเตี้ยมีความแข็งแกร่ง และนำรายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น หน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกับชุมชนสร้างความเข้มแข็งด้วยการดึงคนภายนอกให้เข้ามาเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตพอเพียง และเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านร้อยเสา ซึ่งเป็นลานวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม เมื่อสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษากระบวนงานการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากชุมชนนี้แล้วจะขยายการพัฒนาชุมชน เกษตรกรพื้นที่อื่นๆให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามรอยบ้านร้อยเสาได้ในอนาคตโดยร่วมมือกับอพท.ต่อไป ซึ่งผู้ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นางวันดี ประกอบธรรม หมายเลขโทรศัพท์ 09 8412 1712



………………………………………………………………………………..
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ / วีดีโอ : วัชร มีแสงเงิน / โสวัจ อาทรเมทนี
อำนวยการข่าว : เดชา บุญโต