นายธีระ วงษ์เจริญ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ศ.2558 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ….. ถึงรัฐบาล โดยรัฐบาลได้มอบให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)พิจารณาและเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน ซึ่งสภาพัฒน์ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและมีการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวโดยเปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ….. และเตรียมนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อครม.ลงมติเห็นชอบจึงนำสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดหวังว่าจะเสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ ปัจจุบันการเป็นอยู่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและถูกโดดเดี่ยวถ้าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเข้ามา รัฐต้องเข้าไปคุ้มครองดูแลในเรื่องของการจัดระบบ ทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรกรรมรูปแบบอื่น ทั้งนี้ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีเกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับเกษตรกรและสังคมไทย การพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการทำงานในเชิงระบบเป็นองค์รวมและต่อเนื่อง ตลอดจนต้องกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และเพื่อให้เกิดระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ และทุกภาคส่วนที่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและแปลงนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนิเวศน์ของแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นประเด็นหลักใหญ่อยู่ที่เรื่องของการกำหนดนิยาม องค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบ รวมทั้งประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันซึ่งได้ตรวจสอบแล้วว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจนเป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้มาจากทุกภาคส่วนมี สตง.รวมทั้งหน่วยงานติดตามตรวจสอบภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยได้ชี้แจงไปเรียบร้อย
นายธีระ กล่าวอีกว่า ถ้าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเข้ามารัฐต้องเข้าไปคุ้มครองดูแลในเรื่องของการจัดระบบ ในตัวบทกฎหมายของสภาเกษตรกรแห่งชาติจะดูเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงคล้ายสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นส่วนนโยบาย สำนักงานเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นตัวปฏิบัติเป็น Action หาก 2 ส่วนนี้ทำงานควบคู่กันเกษตรกรจะได้รับประโยชน์คือมีหลักประกันความคุ้มครองในอาชีพ มีสวัสดิการ มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพราะมีการศึกษาวิจัยจะเข้ามาช่วยดูแลให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น เกษตรกรจะเข้าถึงระบบการคุ้มครอง องค์ความรู้จับต้องได้ง่ายขึ้น จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรติดตามร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในฉบับนี้ แล้วร่วมกันสนับสนุนเพราะเป็นร่างของประชาชน เป็นร่างของเกษตรกรอย่างแท้จริง เราจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายที่เราได้ร่วมมือกันแล้วก็สร้างกันขึ้นมาด้วยพลังของพวกเราโดยสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นชอบแล้วนำเสนอไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปผสมผสานกับฉบับของสภาพัฒน์ จึงถือว่าเป็นร่างที่ประชาชนเสนอแล้วมีความสมบูรณ์มากที่สุดในขณะนี้ หากเกษตรกรมีข้อกังวลใดสามารถสอบถามได้ที่สภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้มั่นใจได้ว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปถ้าเรามีพ.ร.บ.ฉบับนี้เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้และมีความมั่นคงในชีวิตได้ดีขึ้นกว่าเดิม
_______________________________________________________________
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ / วีดีโอ : วัชร มีแสงเงิน
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์