
นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวแถลงข่าวในการประชุมพิจารณากำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกรจากการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ณ ห้องประชุม 301 อาคารวชิรานุสรณ์ ชั้น 3 คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า จากความเดือดร้อนของผลกระทบตามโครงสร้างภาษีใหม่ที่ให้เกษตรกรหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายที่ร้อยละ 60 จากเดิมที่กำหนดร้อยละ 80-85 ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติได้เคยทำหนังสือเรียนนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาและกรมสรรพากรชี้แจงให้คงหลักเกณฑ์ตามเดิมโดยระบุว่าหากเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าร้อยละ 60 สามารถแสดงหลักฐานเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ประเมินได้ แต่เกษตรกรเห็นว่าในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ ตัวแทนเกษตรกรจึงรวมตัวประชุมหารือหาทางออก ในการประชุมมีตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ/โคนม ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย เป็นต้น
ความเดือดร้อนที่ได้รับจาก พรฎ.ดังกล่าว อาทิ ผู้เลี้ยงสุกรต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนจากหลายทาง เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีสังคม ภาษีอาหารและยาซึ่งได้จัดเก็บจากต้นทางแล้ว อาจทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยเลิกอาชีพเลี้ยงสุกรในอนาคต / เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีในอัตรา 60:40 / เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อได้รับผลกระทบจากมาตรการ FTA นำเข้าเนื้อจากออสเตรีย / ผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อเถื่อนจากอินเดียและการนำเข้าเครื่องในวัว / ต้นทุนการเลี้ยงสุกรประมาณ 65% ไม่รวมค่าแรงงาน เป็นต้น โดยในที่ประชุมได้ร่วมเสนอ




แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกรจากการออก พรฎ.ดังกล่าว อาทิ เสนอให้ภาคปศุสัตว์ต้องทำราคาต้นทุนให้ได้เพื่อให้สามารถต่อรองกับผู้ค้ารายใหญ่ เนื่องจากภาคปศุสัตว์รายย่อยได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มราคา / ควรมีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี / ตัวเลขด้านต้นทุนเกษตรกรมีอยู่แล้วที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เสนอให้สรรพากรควรนำข้อมูลไปพิจารณาการเก็บภาษีให้เหมาะสม / การนำเสนอแนวทางต่อรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ เป็นต้น



อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนและแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา ในที่ประชุมได้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จังหวัดมหาสารคาม สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมกับตัวแทนเกษตรกรยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาลต่อไป
…………………………………………………………………………………………………………
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : วัชร มีแสงเงิน
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์