ผู้แทนสหกรณ์โคนมร้องสภาเกษตรกรแห่งชาติ หากคงเกณฑ์ภาษีตามเดิมเกษตรกรไปไม่รอด

ในการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ผู้แทนสหกรณ์โคนมทั่วประเทศขอเข้าพบนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากกรณีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้เงินได้เกษตรกรหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 60 ซึ่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ให้ผู้แทนสหกรณ์โคนมจากอำเภอไชยปราการ อำเภอแม่วาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ,  สหกรณ์โคนมจากอำเภอสีคิ้ว อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา , สหกรณ์โคนมจากลำพญากลาง จังหวัดสระบุรี  ,  จังหวัดลพบุรี ,จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสนอเรื่องนี้เข้าพิจารณาในการประชุม โดยนายสมพงษ์ ภูพานเพชร ตัวแทนสหกรณ์โคนม เข้าชี้แจงว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเดือดร้อนมากจากเรื่องภาษีที่กรมสรรพากรกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60 ในส่วน 40 นำไปคำนวณภาษี พอเงินค่าน้ำนมออกเกษตรกรถูกหักค่าอาหารรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆบางคนไม่เหลือเงินเลยจึงต้องติดหนี้ภาษีที่ถูกจัดเก็บ ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงมากกว่าที่กรมสรรพากรกำหนด โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเคยสำรวจข้อมูลที่พบว่านมผง 1 กิโลกรัม ต้นทุนประมาณ 15 บาท ในขณะที่ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 18 บาท  คิดเป็นร้อยละ 83 มากกว่าที่กรมสรรพากรกำหนด เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องมีต้นทุนโรงเรือน ต้นทุนค่าซื้อโคนม ซึ่งแต่เดิมคำนวณที่ร้อยละ 85 เกษตรกรพอรับได้แต่ขณะนี้เดือดร้อนมาก การกำหนดให้นำหลักฐานมาประกอบการหักค่าใช้จ่ายในปัจจุบันยังเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการซื้อฟาง , ข้าวโพด, มันสำปะหลังจากเกษตรกรไม่มีบิลเพราะไม่เคยได้ใช้ แล้วจะมีหลักฐานได้อย่างไร อีกเรื่องที่น่ากังวลคือการเข้าสู่เขตการค้าเสรีหรือ FTA  โดยในปี 2568 นมผงนำเข้าไม่ต้องเสียภาษี แต่เกษตรกรไทยต้องเสียภาษีแน่นอนว่าจะส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไปไม่รอด เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ จึงมาร้องเรียนให้สภาเกษตรกรฯช่วยเหลือ

     นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวว่า เรื่องนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เคยทำหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ภาครัฐยังคงกำหนดค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายของเกษตรกรที่ร้อยละ 85 ก่อนนำไปคำนวณภาษี โดยนายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาและกรมสรรพากรได้ชี้แจงการคงหลักเกณฑ์ว่าเกษตรกรสามารถนำหลักฐานมาประกอบการหักค่าใช้จ่ายจริงได้ แต่ประเด็นคือเกษตรกรจะนำหลักฐานเอกสารมาจากไหน ตามที่ตัวแทนสหกรณ์โคนมได้ชี้แจง ซึ่งในที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติได้สรุปว่ายืนยันจะดำเนินการช่วยเหลือความเดือดร้อนของเกษตรกรในครั้งนี้ตามบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติด้วยขั้นตอนการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้ง นัดเครือข่ายเกษตรกรมาหารือถึงแนวทางการหาทางออกภายในเดือนกรกฎาคมนี้ผลการหารือจะนำสู่การขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศและจัดแถลงข่าวเพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้ทั่วกัน

……………………………………………………………………………….

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ : สมชาย มารศรี

อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์