นางสาวพิชามญชุ์ แซ่จึง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ตระหนักและห่วงกังวลถึงปัญหาแรงงานภาคการเกษตรและผู้สืบทอดอาชีพทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของโครงการเสริมสร้างยุวเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้นักเรียนในสถานศึกษาได้มีความรู้ด้านการเกษตรสามารถช่วยงานในครอบครัวหรือยึดถือเป็นอาชีพต่อไปได้ในอนาคต ด้วยโครงการดังกล่าวสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสานโรงเรียนบัวเจริญวิทยา ต.ตองปิด อ.น้ำเกลี้ยง ซึ่งเป็นโรงเรียนเป้าหมาย มีนักเรียน 270 คน เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านการผลิตพืช ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ บางโรคอาจเกิดจากการรับประทานอาหาร บางโรคอาจเกิดจากสภาวะแวดล้อม บางโรคอาจเกิดจากหลายปัจจัยต่างๆ รวมกัน ซึ่งการบริโภค “ผัก” เป็นวิธีการหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงโรคภัยได้ ซึ่งทางโรงเรียนให้ความสนใจในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยกระบอกไม้ไผ่ สภาเกษตรฯจึงได้ประสานศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษให้เข้ามาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ด้วยเห็นว่าการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทำการเกษตรนั้น ควรต้องนำหลักวิชาการมาปรับกระบวนการผลิต โดยใช้ทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่สภาเกษตรกรฯพร้อมให้การสนับสนุน
ด้านนายสถาน ปรางมาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบัวเจริญวิทยา ได้กล่าวว่า ทางโรงเรียนบัวเจริญวิทยา ให้ความสนใจในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์หรือระบบการปลูกผักไร้ดิน จากการศึกษาพบข้อได้เปรียบของการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์คือสามารถควบคุมการให้ธาตุอาหารของพืชได้ง่ายกว่าการปลูกพืชในดิน ลดค่าแรงงานในการเตรียมพื้นที่ปลูกได้มาก ประหยัดน้ำ ควบคุมโรคได้ง่าย ได้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพ ประหยัดเมล็ดพันธุ์จึงแจ้งยังสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้และลงมือปฏิบัติ แต่การปลูกผักในระบบนี้ข้อด้อยคือการลงทุนสูงในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ทางโรงเรียนจึงหาวัสดุอื่นเพื่อทดแทน โดยมาลงตัวที่ไม้ไผ่วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น เด็กนักเรียนสามารถหามาได้เพราะมีในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไผ่หวานเลือกต้นอายุปี กว่าๆ ลักษณะลำใหญ่ ตรง พื้นที่เริ่มต้นของทางโรงเรียนคือ 5×3 เมตร ทำราง 4 ชั้น เจาะกระบอกไม้ไผ่ 10 ช่อง ค่าวัสดุอุปกรณ์รวมงบประมาณอยู่ที่ 2,500 บาท โดยมีถังรับน้ำ 200 ลิตร 1 ใบ ปั้มน้ำตู้ปลา 2 ตัว ท่อ PVC สีเทา ½ นิ้ว 2 เส้น ข้อต่อสามทาง 14 ตัว ข้อต่องอ 2 ตัว ถ้วยปลูก 240 ถ้วย เมล็ดผักขึ้นฉ่าย และผักสลัด 2 ซอง ไม้ไผ่ยาว 2.50 เมตร 4 ท่อน ปุ๋ยสำเร็จ รูปละลายน้ำได้ 1 กิโลกรัม เครื่องวัดค่า pH และเครื่องวัดค่า EC ทำการเพาะเยื่อเมล็ดพันธุ์ 800 เมล็ด 2 สัปดาห์ เตรียมขยายและลงรางปลูกใช้เวลา 2 เดือนโดยประมาณ ทำการเก็บผลผลิตจำหน่ายในโรงเรียนและชุมชนก่อนขยายตลาดต่อไป กิจกรรมครั้งนี้มีนักเรียนให้ความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการปฏิบัติจริงและทำงานเป็นระบบกลุ่ม ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนนำไปขยายผลยังครอบครัวได้ต่อไปในอนาคตด้วย
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : สกจ.ศรีสะเกษ
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์