





ด้วยคุณประโยชน์ของถั่วคือบำรุงสมองและประสาทตา เสริมสร้างความจำ ลดความดันโลหิตสูงและป้องกันมะเร็ง รสชาติมันถูกปาก ถูกใจ แล้วถ้ายิ่งมีลวดลายก็ยิ่งได้อรรถรสในการลิ้มลอง “ถั่วลายเสือ” ตอบโจทย์นั้นได้ นายเธียรชัย แซ่จู สมาชิกกลุ่มพัฒนาสินค้าเกษตรบ้านหนองผาจ้ำ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า “ถั่วลายเสือ” หรือ “ถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2” ในท้องถิ่นปลูกกันมานานเรียกกันหลายชื่อ เช่น ถั่วราชินี ถั่วพระราชทาน ถั่วจัมโบ้ลาย และถั่วลายเสือ ลักษณะเด่นคือ เมื่อแกะฝักถั่วออกเมล็ดของถั่วลายเสือจะมีเยื่อหุ้มเมล็ดคล้ายกับลายหนังเสือโคร่ง มีรูปร่างฝักสวย รูปฝักยาวมีจำนวน 2-4 เมล็ดต่อฝัก ถั่วรุ่นหนุ่มจะมีเมล็ดสีขาวและเริ่มมีลายพอใกล้ช่วงเก็บเกี่ยวลายและสีจะชัดมากขึ้น รสชาติค่อนข้างหวาน กรอบนุ่มกว่าถั่วลิสงทั่วไป ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 580 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตต่อปี 500 – 600 ถัง 1 ถัง นน. 10 กิโลกรัมฝักดิบ ต้นทุนต่อถัง 65 -70 บาท ขายเฉลี่ยราคา 120 – 200 บาท/ถัง ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตแต่ละปี โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่ โรคที่พบในพื้นที่คือ โรคใบแห้งโคนแห้งซึ่งไม่ร้ายแรงต้นยังคงให้ผลผลิตอยู่แต่จะน้อยกว่าเดิมเท่านั้น ส่วนแมลงที่รบกวนคือ แมลงเจาะ เจาะเข้าฝักกินเมล็ดแต่พบไม่มากเกษตรกรจะปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้ทำการกำจัด ด้านการบำรุงใช้วิธีไถกลบเพราะต้นถั่วบำรุงดินอยู่แล้ว บางฤดูกาลมีคนมาเหมาแปลงเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก ขายยกแปลงๆละ 1,000 – 2,000 บาท ปลูกได้ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนเพราะชอบอากาศเย็นบางปีหากอากาศไม่เย็นจะปลูกได้ผลผลิตน้อยและแทบไม่ได้เลย ดินต้องมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง เช่น ดินร่วน หรือร่วนเหนียว และมีการกระจายตัวของฝนดี เหมาะสำหรับการปลูกในเขตภาคเหนือตามที่ราบเชิงเขา สามารถปลูกได้ 2 รอบ/ปี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน
ด้านนางสาวรดาณัฐ อุปนิชากร หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลสบป่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เกษตรกรได้สะท้อนปัญหาเด่นในตำบลคือ ราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจึงเข้าหารือกับทางสกจ.แม่ฮ่องสอนในการหาแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหา จึงได้แนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่ม ภายใต้ชื่อ “กลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรหนองผาจ้ำ มีสมาชิก 30 ราย ปัจจุบันกลุ่มพัฒนาฯได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเตรียมพร้อมปรับตัวเป็นเกษตรอุตสาหกรรม โดยความต้องการของกลุ่มคือการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย มีไซโลสำหรับเก็บผลผลิต การแปรรูปผลผลิต และทางสกจ.แม่ฮ่องสอน ได้เตรียมต่อยอดด้วยการสร้าง GI ถั่วลายเสือ ให้คำแนะนำถึงการก้าวสู่ SME รวมถึงการแปรรูปผลผลิต และอื่นๆต่อไป ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5368-6218 หรือนายเธียรชัย แซ่จู โทร.09-1303-7371
…………………………………………………………………………………….
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์