นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตข้าวโพดของประเทศปีนี้ฤดูกาลผลิต 2560/2561 ผลผลิตอยู่ประมาณ 4.5 ล้านตัน จากมาตรการราคาที่รัฐบาลพยายามจะแก้ไขให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ทำให้สถานการณ์ข้าวโพดมีการบริหารการจัดการที่ชัดเจนและแน่นอน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานความร่วมมือสภาเกษตรกรฯในเรื่องการหาข้อมูลในพื้นที่และประเด็นรับฟังความคิดเห็นจากปัญหาทั้งหมด และสภาเกษตรกรฯได้รวบรวมประเด็นปัญหาและสรุปให้กับกรรมการนโยบายบริหารข้าวโพดแห่งชาติโดยมีการขอความร่วมมือจตุภาคีและ 3 ประสาน ซึ่งจะแยกประเภทข้าวโพดออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปลูกในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนที่ 2 ปลูกในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนที่ 3 การส่งออก สรุปประเด็นได้ว่า
- ผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และแจ้งสถานที่ ปริมาณผลผลิตที่ครอบครองหรือรับซื้อตั้งแต่ 50 ตันต่อเดือนขึ้นไป
- เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์จะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมีการบริหารการจัดการร่วมกัน โดยกระทรวงพาณิชย์แจ้งราคาให้กับผู้ประกอบการอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ส่งมอบ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ ราคามีเสถียรภาพและเป็นไปตามกลไกของตลาดตามคุณภาพของข้าวโพดที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นนั้นๆ โดยทางสภาฯจะรับเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดในราคาที่ไม่เป็นธรรมแล้วเสนอไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อขึ้นทะเบียนแบล็กลิสต์ ซึ่งในภาพรวมจะทำให้สถานการณ์ข้าวโพดและการบริหารจัดการข้าวโพดดีขึ้น
ในด้านการแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำอย่างยั่งยืนด้วยการขึ้นทะเบียนจะทำให้เห็นปริมาณข้าวโพดที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมดว่าผลผลิตในประเทศไทยออกช่วงไหน และเกษตรกรต้องปรับตัวผลิตข้าวโพดคุณภาพตามที่ตลาดต้องการอย่างไร ระบบตรงนี้เป็นการซื้อขายโดยการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนและรวบรวมผลผลิตส่ง เป็นการบริหารไม่ให้กระจุกตัวทำให้ราคามีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลส่งเสริมให้กลุ่มผู้รวบรวมผลผลิตสามารถรวบรวมแล้วส่งข้าวโพดที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมเป็นช่วงๆ ทำให้ข้าวโพดไม่ไหลสู่ในระบบมากจนเกินไป ทำให้ราคาข้าวโพดเกิดราคาเสถียรภาพราคาอย่างยั่งยืนในอนาคต
“ ตอนนี้สถานการณ์การผลิตข้าวโพดของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เกษตรกรต้องปรับตัวพฤติกรรมในการปลูกพืช ต้องสอดคล้องกับบริบทของผู้ประกอบการที่จะใช้วัตถุดิบให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ กติกาของโลก ซึ่งแนวทางบริหารการจัดการข้าวโพด 1.เกษตรกรต้องปรับลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้ได้ 2.เกษตรกรต้องผลิตข้าวโพดคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด 3.เกษตรกรต้องรวมตัวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งมีอำนาจการต่อรองให้เป็นกลไกที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวโพดให้ได้ต่อไปในอนาคต ” นายเติมศักดิ์กล่าวปิดท้าย
…………………………………………………………………………………….
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : วัชร มีแสงเงิน
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์