นายสุรศักดิ์ วานิชกิจ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติและเลขานุการคณะกรรมการด้านประมง สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลานิล ปลาทับทิม มีปริมาณสูงนับแสนตันหรือราวร้อยละ 50 ของผลผลิตปลานิลของประเทศ กระชังที่เลี้ยงมีขนาด 20-25 ตารางเมตร รวมจำนวนมากกว่า 50,000 กระชัง ได้ผลผลิต 30-40 กิโลกรัม/ตร.ม. รอบการผลิตเฉลี่ย 2 รอบ/ปี โดยมีการเลี้ยงกระจายในหลายจังหวัดที่มีลำแม่น้ำและเขื่อน สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนหลายหมื่นครัวเรือนและตามที่ได้มีพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 24 มกราคม พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศนั้น ยังผลให้เกษตรกรอาชีพการเพาะเลี้ยงปลากระชังในลำแม่น้ำต่างๆประสบความเดือดร้อนและอาจต้องเลิกอาชีพนี้ทั้งหมด เนื่องจาก พรบ.ดังกล่าวเรียกเก็บค่าตอบแทนเป็นรายปี ซึ่งไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 100 บาท และมีบทลงโทษจำคุก หรือปรับไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกฎหมาย ประกาศ ระเบียบหลายฉบับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความซ้ำซ้อนกันยากต่อการปฏิบัติ หลักเกณฑ์ที่กำหนดก็แตกต่างกันและมีการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา หากพื้นที่ที่มีการเพาะเลี้ยงปลากระชังอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดให้ขออนุญาตกับหน่วยงานนั้น เช่น กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ เป็นต้น สถานการณ์ปัจจุบันของผู้เลี้ยงปลาในกระชังจึงสับสนมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกษตรกรไม่สามารถรับได้ ถ้าการจัดเก็บค่าตอบแทนเป็นดังนั้นจริงจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างและอาจเลิกประกอบอาชีพ ในความเป็นจริงเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังจะปฏิบัติตามกฎหมายของกรมประมง และตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ประมงเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นมาให้ข้อแนะนำ ส่วนกรมเจ้าท่าได้มอบอำนาจการพิจารณาและอนุญาต ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บค่าตอบแทนเป็นรายปีแทน ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 64/2537 แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งไม่ได้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับทราบปัญหานี้แล้วและจะหารือกับกรมประมงและกรมเจ้าท่าเรื่องทำอย่างไรให้เกษตรกรเสียค่าตอบแทนให้ต่ำที่สุด และตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นผู้กำหนดพื้นที่และอนุญาตเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งตามกฎหมายและประกาศนี้เกษตรกรที่ขออนุญาตจะเสียค่าธรรมเนียมรายปีตามกฎกระทรวง ในอัตรา 2 บาท/ตร.ม.
นายสุรศักดิ์ ได้กล่าวต่อไปว่า ด้วยความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เกิดขึ้น สภาเกษตรกรแห่งชาติในฐานะตัวแทนเกษตรกรจึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาการเพาะเลี้ยงปลากระชังในที่จับสัตว์น้ำประเภทที่สาธารณประโยชน์ โดยขอให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด หรืออธิบดีกรมประมง หรือรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดพื้นที่และการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำประเภทที่สาธารณประโยชน์ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด อธิบดีกรมประมง รัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติไว้ เพื่อให้กำหนดหลักเกณฑ์เดียว ลดความซ้ำซ้อนที่ยากต่อการปฏิบัติและลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อแก้ไขภาพรวมของปัญหาอย่างบูรณาการ และกรมเจ้าท่าต้องออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในลำแม่น้ำ เขื่อน ทะเลสาบ ทะเลซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมเจ้าท่าได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บค่าตอบแทนเป็นรายปีเช่นเดียวกับเครื่องมือทำการประมง แต่อาจมีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมตามประเภท ชนิด ขนาด จำนวนกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ภาคเอกชน ประชาชน มีส่วนร่วม ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าอาจออกกฎกระทรวงให้กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นอาชีพของเกษตรกรที่ได้รับการยกเว้น หรือให้เสียค่าตอบแทนรายปีในอัตราไม่เกิน 5 บาท/ ตร.ม. สำหรับพื้นที่กระชังส่วนที่เกิน 100 ตร.ม.ต่อราย เป็นต้น
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์