นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ครม.ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560 – 2564 ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอ ในมติได้บอกให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานประสานบูรณาการกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมเป็นกระทรวงแรกร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป้าหมายพัฒนาร่วมกันกับกลุ่มองค์กรเกษตรกรที่สภาเกษตรกรฯได้ขึ้นทะเบียนไว้รวมทั้งลูกค้าของธกส. โดยทำแผนระยะยาว 4 ปีที่จะพัฒนา จำนวน 15,000 กลุ่ม เพื่อให้กลุ่มองค์กรเกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนวัตกรรมในด้านการผลิต,การแปรรูป,การตลาด การให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป้าหมาย 260,000 คน สร้างชุมชนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำ MOU. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 และได้ดำเนินการโครงการร่วมกันโดยจัดเวทีอบรมเกษตรกรตามภูมิภาค โดยเริ่มต้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2560 เป้าหมายเรื่องข้าว/หอม/กระเทียม , จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2560 เป้าหมายเรื่องพริก/เห็ด/ลำไย เมื่อจบกิจกรรมให้เกษตรกรกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าต้องการเรื่องใดบ้าง กระทรวงวิทย์ฯจะรวบรวมเข้าสู่โปรแกรมโครงการลงมาสนับสนุนชุมชนตามความต้องการ โดยส่งนักวิทยาศาสตร์/งบประมาณลงมาช่วย ซึ่งสภาเกษตรกรฯจัดหากลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันองค์ความรู้ไหนที่ยังไม่มีกระทรวงวิทย์ฯก็จะศึกษาวิจัยแล้วเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป และหลังจากนี้ไปกระทรวงเกษตรฯจะต้องเชิญกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในแผนมาร่วมหารือกันว่าจะแปลงแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติร่วมกันได้อย่างไร พร้อมกันนี้กระทรวงเกษตรฯจะร่วมกันจัดทำแผนกับกลไกในระดับจังหวัดร่วมกับสภาเกษตรกรฯ สร้างกลไกในการขับเคลื่อนแผน โดยแยกเป็นปี 2561 ซึ่งอาจยังไม่เห็นผล แต่จะขับเคลื่อนเป็นบางกิจกรรม กับเตรียมบูรณาการโครงการเข้าสู่ปีงบประมาณปี 2562 ร่วมกับกระทรวงฯอื่นๆ โดยเฉพาะสภาเกษตรกรฯก็จะเป็นกลไกไปขับเคลื่อนร่วมกับเกษตรกรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่จะนำแผนลงไปสู่การปฏิบัติ และแผนเหล่านี้เป็นแผนที่ระดมมาจากความคิดเห็นของเกษตรกร ตัวเกษตรกรต้องคิดเป็นผู้ดำเนินการเองไม่ใช่เป็นผู้รอรับบริการอย่างเดียว ก็จะเป็นส่วนที่สะท้อนกลับขึ้นมาในส่วนดำเนินการร่วมกับรัฐบาลและโครงการต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรต้องปรับตัวแล้วเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆเพราะต่อไปนี้งบประมาณในการจัดทำจะไปอยู่กลุ่มภูมิภาคเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและยุทธศาสตร์กลุ่มภูมิภาคซึ่งมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นตัวขับเคลื่อน / แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 รวมทั้งแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560 – 2564 ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอ ซึ่งทั้ง 3 แผนนี้จะไปสอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำที่จะนำไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนในระยะยาว
……………………………………………………………………………..
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดน่าน/วัฒนรินทร์ สุขีวัย
อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์