วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มอบหมายให้นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย และหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง รวม 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดเลย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดมหาสารคาม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน จัดโดยกองส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ณ ห้องประชุม 1 – 2 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ชั้น 1 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องจากสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง แนวทางการส่งออกไก่งวงและผลิตภัณฑ์จากไก่งวงของประเทศไทย (กรณีศึกษาของจังหวัดราชบุรี) เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเป็นการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่งวงทั้งประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร
การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล และรับฟังปัญหาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาในด้านต่างๆ โดยได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น พร้อมทั้งขอคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงและภาคส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถต่อยอดธุรกิจสินค้าไก่งวงและผลิตภัณฑ์จากไก่งวงได้อย่างมั่นคงยั่งยืน และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ไก่งวงเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ รวมถึงการกำหนดระเบียบหรือการรับรองมาตรฐานต่างๆ ที่ระบุถึงไก่งวงโดยเฉพาะเจาะจง และการส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านอาหารและการพัฒนาสายพันธุ์ไก่งวงในประเทศไทยให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ต้านทานโรค บริหารจัดการง่าย ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศ และมีคุณภาพผลผลิตที่ดีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดผลกำไรสูงสุดต่อเกษตรกร
ข่าว : ศดิศ พัลลภรักษา
ภาพ : ศดิศ พัลลภรักษา
อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์ มีลาภ