ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารและพนักงาน สกช. และ สกจ. พร้อมเปิดการประชุมนำเสนอ(ร่าง)แผนแม่บทฯ และข้อเสนอเชิงนโยบาย

สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ หรือ สกช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 “การวิเคราะห์ประเมินผลการจัดการการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประเภทผู้แทนองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิ และแนวทางการสนับสนุนการจัดประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเตรียมความพร้อมจัดการเลือกประธานสภาเกษตรกรจังหวัด และประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะทำงานอื่น และกิจกรรมการนำเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) และข้อเสนอเชิงนโยบาย พร้อมเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบประชุมทางไกล Video Conference (Zoom Meeting)

เมื่อพิธีเปิดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จากนั้นได้กล่าวเรียนเชิญนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีขึ้นกล่าวเปิดการประชุม พร้อมกันนี้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารและพนักงานสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด สามารถถอดความนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานได้พอสังเขป ดังนี้

ประเด็นด้านนโยบายการทำงานในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ    

  1. “ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง และติดกระดุมเม็ดที่สองเพื่อให้มีความแน่นหนามากขึ้น”
  2. ช่วงระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 4 ปี ต่อจากนี้ จะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดระเบียบและกฎหมายเป็นหลัก มีความยุติธรรม โปร่งใส ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เป็นการทำงานเพื่อองค์กร เติมเต็มสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ให้มีศักยภาพ และได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ
  3. ปัจจัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
  4. ภายหลังจากดำรงตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ก็มีผลงานที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจแล้วถึง 2 เรื่อง ได้แก่
  • การแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และหอยแครง ชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งได้ผลักดันจนได้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่เกษตรกรในเวลาอันใกล้นี้
  • การแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในการขอปรับขึ้นราคาน้ำนมโคดิบ ซึ่งได้ผลักดันจนได้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

และมีความมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาของการเกษตรด้านอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป และในอนาคตจะตั้ง “คณะรัฐมนตรีของสภาเกษตรกรแห่งชาติ” ที่โปร่งใส เป็นธรรม และไม่ด่างพร้อย

ประเด็นด้านนโยบายการทำงานของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด

  1. สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด จะต้องปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามภารกิจ และมีความทุ่มเท ตลอดจนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
  2. ต้องหาแนวทางเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรให้เป็นที่รู้จักของเกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ โดยช่องทางที่ดีที่สุดคือการสร้างผลงานเพื่อให้เป็นที่รู้จัก และเพื่อให้ได้งบประมาณมาใช้ขับเคลื่อนองค์กร
  3. ต้องมีการสื่อสารภายในองค์กรที่ดี และมีการใช้ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำงานอย่างมีระบบ มีขั้นตอน สอดคล้องกับหลักทรงงานของในหลวง ร.9 และให้มีความสามัคคีกัน
  4. ขอให้บุคลากรร่วมแรงร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ สร้าง สกช. และ สกจ. ให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่ มีสวัสดิการที่ดี จูงใจให้ “ใครๆ ก็อยากสมัครเข้าทำงานกับสำนักงานสภาเกษตรกร”

โดยในส่วนของกิจกรรมการนำเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) และข้อเสนอเชิงนโยบาย พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนายชัยโรจน์ มีแดง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายชัยรัตน์ อุดมเดชะ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และ ดร.พรมณี ขำเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัท ก่อเกิดผล จำกัด สามารถสรุปพอสังเขปได้ ดังนี้

(ร่าง) แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ประกอบด้วย

  1. วิสัยทัศน์ 5 ปี (2566 – 2570) : เกษตรกรเป็นหลักในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
  2. พันธกิจ : พัฒนา เสนอแนะ ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรและการเกษตรสู่เข็มมุ่งความมั่นคง พอเพียงของเกษตรกรไทยและเกษตรทฤษฎีใหม่
  3. ค่านิยมหลัก : 3 ห่วง 2 เงื่อนไข + ค่านิยมเกษตรทฤษฎีใหม่ หมายเหตุ : 3 ห่วง ได้แก่ มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 2 เงื่อนไข ได้แก่ ความรู้ คุณธรรม
  4. ยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

– ยุทธศาสตร์ 1 : สร้างและขับเคลื่อนเข้มแข็ง มุ่งเกษตรกรรมไทยสู่ผู้นำการเกษตรโลก

– ยุทธศาสตร์ 2 : เกษตรชาญฉลาด ขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมสีเขียว

– ยุทธศาสตร์ 3 : พัฒนาความมั่นคงของเกษตรกรสู่ความมั่นคงทางอาหาร สู่ความมั่นคงของประเทศ สู่ความมั่นคงของแหล่งอาหารโลก

ข้อเสนอเชิงนโยบาย ประกอบด้วย

(1) ข้อเสนอที่ 1 เพื่อขออนุมัติและวางระบบการบูรณาการความร่วมมือในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เป็นไปตาม “แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570)

(2) ข้อเสนอที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติในระดับพื้นที่

(3) ข้อเสนอที่ 3 เพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนาองค์การสภาเกษตรกรแห่งชาติทั้งระบบในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ

ภายหลังกิจกรรมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คณะวิทยากรจะได้นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม (ร่าง) แผนแม่บทฯ และข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้มีความสมบูรณ์ ครบถ้วน และเสนอต่อสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไป

 

ข่าว : ศดิศ พัลลภรักษา
ภาพ : ศดิศ พัลลภรักษา
อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์ มีลาภ