เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม 2566 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุมวันวาน บาย พาโค่ เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด จำนวน 55 คน
โดยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 นางสายสุนี ธรรมประดิษฐ ผู้อำนวยการกองกลาง ได้รับมอบหมายจากนายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ในวันนี้มีการบรรยายในหัวข้อเรื่อง “ความเป็นมาของการจัดทำคำของบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566” และ “กระบวนการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ (การติดตาม ประเมิน และเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ)” โดย นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง หลังจากนั้นเป็นการบรรยายขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดหาพัสดุ และการบันทึกบัญชีในภาพของสกช. และสกจ. ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยนางสายสุนี ธรรมประดิษฐ ผู้อำนวยการกองกลาง และคณะ และต่อจากนั้นเป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกการบันทึกค่าใช้จ่าย ฝึกวิเคราะห์การแยกค่าใช้จ่าย ภายใต้งบประมาณที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งฯ และนำผลการปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในการบันทึกค่าใช้จ่ายของแต่ละจังหวัด อีกทั้งเป็นการละลายพฤติกรรม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 วันที่ 2 ของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม พบปะ ให้กำลังใจผู้เข้าร่วมสัมมนา และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “หลักการสำคัญของงบประมาณ ตามรัฐธรรมนูญฯ และการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า” และต่อจากนั้นเป็นการอภิปรายถึงประเด็นปัญหา และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขข้อคลาดเคลื่อนในการใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และมีการทำกิจกรรมแบ่งกลุ่มเพื่ออภิปราย โดย นายไพโรจน์ พวงทอง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ และคณะ ในช่วงท้ายเป็นการสรุปประเด็นปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน และการบริหารจัดการ รวมทั้งตอบข้อซักถาม สรุปการอบรม และปิดการสัมมนา โดยนางสายสุนี ธรรมประดิษฐ ผู้อำนวยการกองกลาง ทั้งนี้ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ รุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือว่าประสบความสำเร็จ ผู้เข้ารับการสัมมนาฯ ได้รับความรู้ ได้ฝึกปฏิบัติ และได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่ได้พบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน และบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และนอกจากความรู้ที่ได้แล้ว การสัมมนาในโครงการนี้ยังก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่สกช.และสกจ.อีกด้วย
———————————————–
ข่าว : อรรจนา บุณยรัตพันธุ์
ภาพ : อรรจนา บุณยรัตพันธุ์
อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์ มีลาภ