สภาเกษตรกรแห่งชาติหนุนสภาการประมงฯแนะยกร่าง ก.ม.ให้เกิดสภาวิชาชีพเพื่อประโยชน์ชาวประมงระยะยาว

          นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมหารือเพื่อพิจารณาประเด็นความซ้ำซ้อนของร่างพระราชบัญญัติสภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ….. กับภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับ นายบัญชา  สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง และคณะทำงาน  พร้อมด้วยผู้บริหารสภาเกษตรกรแห่งชาติ , คณะกรรมการด้านประมง สภาเกษตรกรแห่งชาติ , สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน  , สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย , สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ก่อนหน้านี้รับทราบข่าวสารเรื่องร่างพระราชบัญญัติสภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ….. มาบ้างแล้ว นับเป็นโอกาสดียิ่งที่รองอธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว ได้พาคณะทำงานมาหารือกันประเด็นความซ้ำซ้อนของร่างพระราชบัญญัติสภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ….. กับภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่จริงหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติโดยกฎหมายเขียนไว้เลยว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มองค์กรเกษตรกร การทำการเกษตรภาคประมงก็เป็นสาขาอาชีพการผลิตสาขาอาชีพหนึ่งที่มีสำคัญและมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก มูลค่าเศรษฐกิจทั้งจากภาคอาหารภายในประเทศและการส่งออกเป็นกอบเป็นกำสร้างรายได้ให้ประเทศไทยมหาศาล โดยหลักการแล้วสภาเกษตรกรฯสนับสนุนสภาการประมงฯ   แต่ถ้าว่ากันด้วยกฎหมายก็ได้เสนอแนะกับทางกรมประมงไปว่าให้จำกัดกรอบในการยกร่างกฎหมายเพื่อป้องกันเรื่องการทับซ้อนกับกฎหมายอื่นๆที่ออกมาก่อนหน้า และเน้นไปที่การทำให้เกิดสภาวิชาชีพของกลุ่มชาวประมง ซึ่งในสาขาการผลิตภาคการประมงมีการประมงน้ำลึก การประมงพาณิชย์ การประมงชายฝั่ง การประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเลี้ยงกุ้ง ถือว่ามีความหลากหลายมากตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด สามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกยาวไกล เน้นเรื่องความร่วมมือการจัดสรรประโยชน์ของกลุ่มสาขาการผลิตแต่ละสาขา ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้งกันเยอะ เช่น ประมงพาณิชย์ ประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ขัดแย้งกันด้วยเรื่องเเย่งชิงทรัพยากร หากใช้โอกาสนี้ให้สภาการประมงฯทำหน้าที่ในการจัดสรรประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก การกำหนดขอบเขตของแต่ละสาขาย่อยให้ลงตัว ความร่วมมือกันของกลุ่มสมาชิกชาวประมงทุกสาขาจะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนร่วมกัน รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน มาตรการในการยกระดับกลุ่มสมาชิกชาวประมงให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น ให้มีการประกอบการที่ก้าวหน้า ทันสมัย สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้มากขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็จะง่ายในการนำเสนอ ซึ่งในที่ประชุมฯก็เห็นคล้องตามกันด้วย

     “ท่านรองอธิบดีบัญชาก็จะได้ลงไปจัดการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.สภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ….. ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ที่สำคัญก็คือควรจะมีความร่วมมือกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาการประมงฯ ทั้งในแง่ของการทำงาน การกำหนดแนวทาง และความร่วมมือในการสร้างพลังอำนาจต่อรองทั้งกับภาครัฐแล้วก็กับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ถ้าเป็นไปตามนี้ได้ก็เชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาอาชีพให้กับชาวประมง และเป็นพลังสำคัญอย่างมากเลยในการขยายเศรษฐกิจสาขาประมงให้เติบใหญ่และเป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำให้อาชีพชาวประมงมีความมั่นคงยั่งยืนและก็เป็นส่วนสำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยต่อไปในอนาคตระยะยาว” นายประพัฒน์  กล่าว

………………………………………………………….

ข่าว : วัฒนรินทร์  สุขีวัย

ภาพ :  วัฒนรินทร์  สุขีวัย / ธัญลักษภรณ์  เตี่ยวย่อง  / สมชาย  มารศรี

วีดีโอ : สมชาย  มารศรี

อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์  มีลาภ