สภาเกษตรกรจังหวัดตราด ดัน “ขยะเป็นศูนย์” พื้นที่ผักเกษตรอินทรีย์

         นายภาสกร  เขียวขจี อายุ 55 ปี อาชีพเกษตรกร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราด จ.ตราด และเจ้าของ “บ้านไร่เขียวขจี ภาสกรฟาร์ม” กล่าวว่า พื้นที่ทำการเกษตร“บ้านไร่เขียวขจี ภาสกรฟาร์ม” เป็นสวนผสมด้วยระบบอินทรีย์ และรับรองพื้นที่ทั้งหมดแล้วโดยกรมวิชาการเกษตร ประมาณ 130 ไร่เศษ เป็นพื้นที่น้ำ 30 ไร่ เลี้ยงปลาตะเพียน ยี่สก  , ปลูกผัก 15 ไร่ ประมาณ 30 ชนิด  เป็นระบบน้ำหยด , นาข้าว 20 ไร่ ปลูกพันธุ์หอมมะลิ 105 จำหน่ายและบริโภค  , ปาล์มน้ำมันส่งโรงงาน/หมากดิบส่งตลาดต่างประเทศ 10 ไร่   , มะพร้าว/กล้วย พันธุ์มะลิอ่อง 10 ไร่เศษ  ,  มะละกอฮอลแลนด์ 5-10 ไร่ ส่งตลาดและห้างสรรพสินค้า เป็นต้น  ผลผลิตหลักของกลุ่มฯคือผักสลัด เช่น ฟิลย์เล่ไอซ์เบิร์ก  เรดปัตตาเวีย  เรดโอ๊ค  เรดคอรัล  กรีนโอ๊ค  บัตเตอร์เฮด   คอส  เบบี้คอส เป็นต้น นำส่งยังโรงพยาบาลในจังหวัดตราดและจันทบุรี เพื่อจัดทำเมนูสุขภาพสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งตามคำสั่งซื้อจากห้างสรรพสินค้า  ปัญหาหลักคือจะมีเศษผักที่ไม่สวย หัก แต่ยังสามารถบริโภคได้ ทางกลุ่มฯแยกจำหน่ายกับทำปุ๋ยหมักไว้ใช้หมุนเวียนในพื้นที่  แต่ก็มองว่าน่าจะต่อยอดได้ไหม  จึงได้หารือกับสภาเกษตรกรจังหวัดตราดเพื่อหาทางบริหารจัดการต่อไป

         ขณะที่ นางมาลี  วิจิตรโสภาพันธ์ หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด เปิดเผยว่า เกษตรกรในจังหวัดตราดส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะประสบปัญหาเรื่องการจัดการผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต การรักษาคุณภาพผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เรื่องการจัดการพื้นที่ภาคการเกษตรให้ “ขยะเป็นศูนย์”ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากการประชุมร่วมกันกับประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ได้ให้นโยบายไว้ จึงนำมาสู่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรไว้กับสภาเกษตรกรจังหวัดตราด   “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราด” รวมตัวเป็นเครือข่าย 10 คน ปลูกผักอินทรีย์ ประเภทผักสลัด  ผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว ผลไม้ มะพร้าว ปาล์ม หมาก รวมทั้งนาข้าวด้วย ผักสลัดของทางกลุ่มหลักๆจะส่งให้กับห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล  เป็นต้น  ในกระบวนการคัดแยกเพื่อบรรจุจำหน่ายนั้นจะมีการตัดแต่งผักส่วนที่ไม่สวย มีรอยหัก แต่ไม่เน่าเสีย และสามารถบริโภคได้ มองว่าเศษผักเหล่านี้น่าจะมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้  จึงประสานงานไปยังสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นต้น เพื่อเข้ามาให้ความรู้และกระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร จึงเป็นที่มาของการแปรรูปสู่ผักผง โดยเกษตรกรนำเศษผักอินทรีย์ที่เหลือจากการคัดแยกปั่นละเอียดและนำไปบรรจุในถุงซีล แล้วนำเข้าช่องฟรีซแช่แข็งทันที และจัดส่งให้ผู้ประกอบการเพื่อดำเนินการแปรรูป ซึ่งจะใช้เวลาเข้าเครื่องป่น ครั้งละ 18-20 ชั่วโมง เศษผักสลัดปั่นละเอียดแช่แข็ง จำนวน 10 กิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นผักผงได้ประมาณ 1 กิโลกรัม นำไปบรรจุแคปซูลหรือซองฟรอยด์ เพื่อชงดื่มหรือประกอบอาหาร และอื่นๆ ซึ่งกระบวนการแปรรูปจากวัสดุเศษผักสลัดเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิด “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) เป็นแนวทางในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์

          อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรจังหวัดตราดและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราดกำลังวางแผนนำผักผงแปรรูปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ เช่น โจ๊กผัก ซุปผัก ผักสลัดชงน้ำพร้อมดื่ม หรือวัตถุดิบในการทำขนมปัง เบเกอรี่ เป็นต้น รวมทั้งความต้องการเครื่องจักรการเกษตรขนาดเล็กเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มมากขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกและผ่อนแรงเกษตรกรในระดับหนึ่ง ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดตราดจักได้นำความต้องการประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการเรื่องผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่จะต่อยอดออกมา ในขณะที่ “บ้านไร่เขียวขจี ภาสกรฟาร์ม” ก็ได้เตรียมพื้นที่ 10 ไร่ เพื่อจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ลานกางเต็นท์ บ่อตกปลา ร้านอาหาร/กาแฟ จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และขยายเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดตราดดำเนินการรวบรวมผลผลิตอินทรีย์สู่ตลาดที่มีความต้องการอย่างกว้างขวางต่อไป

         สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด หมายเลขโทรศัพท์ 0 3951 3580 หรือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเกษตรตราด” หมายเลขโทรศัพท์ 08 1735 2993

                                                …………………………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์  สุขีวัย

ภาพ : สมชาย  มารศรี / สภาเกษตรกรจังหวัดตราด

อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์  มีลาภ