ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564
สภาเกษตรกรฯร่วมกับสมาคมชาวสวนปาล์ม ร่วมหารือการยกระดับการเรียกร้องของเกษตกรชาวสวนปาล์มพร้อมกับจังหวัด
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 2 ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมประชุมหารือในการยกระดับการเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนปาล์มพร้อมกันกับจังหวัดต่างๆ นำโดย นายชัยวุฒิ์ จิตรนุพงษ์ นายกสมาคมชาวสวนปาล์มจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยกรรมการ แกนนำสมาคมฯ ผู้ประกอบการลานเท กรรมการคณะทำงานปาล์มสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ณ ห้องประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี อาคารศูนย์ราชการ ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยมีความเห็นว่าการที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลเหลือเพียงบี7 อย่างเดียวทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์ม(บี100)น้อยลงและจำนวนสต๊อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจึงทำให้ราคาทะลายปาล์มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากนิ่งเฉยปล่อยให้เป็นลักษณะนี้อีกไม่เกิน 1 เดือนราคาจะร่วงลงมาแตะ 5 บาทได้ ในขณะที่ราคาปุ๋ยนั้นขึ้นราคาทุกสัปดาห์ จึงลงความเห็นว่าชาวสวนปาล์มทุกจังหวัดต้องยกระดับการเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานทบทวนเพิ่มอัตราส่วนผสมไบโอดีเซลให้กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 แต่ยังไม่มีประกาศเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของชาวสวนปาล์มฯ จึงได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือในการยกระดับการเรียกร้องของชาวสวนปาล์มพร้อมกันกับจังหวัดต่างๆ ต่อไป
สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ร่วมกับ สสน. เอสซีจี ติดตามการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำพื้นที่ชุมชนบ้านคึมตัวอย่างรอดแล้งอย่างยั่งยืน
เมื่อวัน 1 ธ.ค.2564 ร.ต.ต.สมควร เคนไชยวงค์ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร คนที่ 1 นายสุรศักดิ์ นาอุดม หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยพนักงาน ลงพื้นที่ ณ ชุมชนบ้านคึม ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เพื่อร่วมถอดบทเรียนและความสำเร็จเป็นชุมชนตัวอย่างรอดแล้งอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน)(สสน.)ที่นำองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งร่วมกัน จนเป็นผลให้เกษตรกรในชุมชนสามารถผ่านวิกฤตและตระหนักถึงการใช้น้ำที่เหมาะสม สามารถพึ่งพาตนเองได้และยังพัฒนา ต่อยอดเป็นพื้นที่ต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นได้เรียนรู้ต่อไปได้ด้วย ขณะที่”โครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง ปี 2563-2564″ สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตร 4 ถัง ระบบส่งน้ำเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 3 นิ้ว ระยะทาง 50 เมตร จากปีงบประมาณ 2563-2564 เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร ได้สำรวจคัดเลือกพื้นที่มีปัญหาและชุมชนที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา “ชุมชนบ้านคึม” เผชิญปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่เดียวกันสะสมมาเป็นระยะเวลานาน สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนครจึงร่วมเป็นพี่เลี้ยงและประสานหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตรวจสอบแหล่งน้ำ วางแผนจัดทำผังน้ำ และการใช้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน สู่การพัฒนาเกษตรกรและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน