สภาเกษตรกรฯรับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยผ่านระบบสื่ออิเล็คทรอนิกส์

          เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย ด้วยระบบประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  ถนนแจ้งวัฒนะ  แขวงทุ่งสองห้อง  เขตหลักสี่  กรุงเทพมหานคร  โดย นายเติมศักดิ์  บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวรายงานเรื่องสถานการณ์โรคใบด่างในมันสำปะหลังในประเทศไทย   นายศรีสะเกษ  สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงที่มาของการประชุมดังกล่าวและดำเนินการประชุม  ในการประชุมมีการบรรยาย เรื่อง “แนวทางความร่วมมือ การส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังครบวงจรด้วยเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่” จากภาคเอกชน นำโดย นายณัฐ  แสงสว่าง ประธานศูนย์ปฏิบัติการเกษตรร่วม(ศูนย์โคแอค) นายพุฒิธร  จาดเนือง ประธานที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเกษตรร่วม(ศูนย์โคแอค) “เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์และการแปรรูปเป็นมันเต๋าอบแห้ง” โดย ดร.กฤช  นฤสิงห์สำราญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯบริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด  นางศศิรินทร์  นฤสิงห์สำราญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด

          ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้รับการประสานจากภาคเอกชนดังกล่าวในด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเครือข่ายสภาเกษตรกรแห่งชาติมาร่วมกันวางแผนการผลิตและบริหารจัดการผลผลิตมันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในรูปแบบการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ จึงนำไปสู่การประชุมร่วมกันในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 และที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าการผลิตมันสำปะหลังเกษตรอินทรีย์ของภาคเอกชนที่ดำเนินการอยู่นั้นเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นอย่างยิ่ง  คณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีความเห็นว่าการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตและเปอร์เซ็นต์ค่าแป้งที่สูงขึ้น โดยเปอร์เซ็นต์ค่าแป้งไม่ต่ำกว่า 25% และมีตลาดรองรับที่แน่นอน จึงดำเนินการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย ด้วยระบบประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) ขึ้น และเตรียมลงพื้นที่เพื่อดูการดำเนินงานของภาคเอกชน ณ แปลงปลูก อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เพื่อความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังของภาคเอกชนมาเป็นแนวทางและประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานบูรณาการร่วมกันต่อไป

………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์  สุขีวัย

ภาพ : ธัญลักษภรณ์  เตี่ยวย่อง / สมชาย  มารศรี