สภาเกษตรกรแห่งชาติแนะ “เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้” หนุนเกษตรกรทำเศรษฐกิจคู่ขนาน

          นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รอบแรกคนไทยตื่นตระหนกทั้งประเทศ ล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว  การค้าขายถูกจำกัด ระบบขนส่งทั้งหมดแทบปิดลง เกษตรกรเดือดร้อนมากสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาโดยตรงด้วยการจัดสรรเม็ดเงินลงไปคนละ 5,000 บาท /เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ฟังเสียงความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนการระบาดรอบนี้ต้องบอกว่าภาครัฐหละหลวมเรื่องของการจัดการแรงงานต่างด้าวไม่ดีพอ แต่ก็จะเห็นได้ว่าเราเริ่มปรับตัว ตื่นตระหนกน้อยลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ถูกปิดทั้งหมด เกษตรกรรู้วิธีป้องกัน ดูแลตัวเองและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งการปรับตัวมาศึกษาเรียนรู้และทดลองค้าขายในระบบออนไลน์มากขึ้น โดยสภาเกษตรกรได้ลงไปให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องการใช้แอปพลิเคชันให้เป็นในปีแรก ปีถัดไปเกษตรกรต้องพยายามลงมือทำเองให้ได้ คาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 เรื่องกิจกรรมการเกษตรกับการขายสินค้าออนไลน์จะแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มเกษตรกร ทั้งนี้ จะมีเกษตรบางสาขาที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เกษตรกรที่ผลิตพืชผักที่อายุการเก็บเกี่ยวน้อย เรื่องการขนส่ง การผ่อนปรนด่าน เพราะบางจังหวัดด่านเยอะจริงจังมาก เกษตรกรส่งผลผลิตไม่ทันเกิดความเสียหาย และที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ด้านการส่งออก ไม่สะดวก ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอทำให้สินค้าเกษตรราคาตกลง

          สภาเกษตรกรแห่งชาติสนับสนุนให้เกษตรกรทำอาชีพเสริม ทำเศรษฐกิจแบบผสมหรือเศรษฐกิจคู่ขนานในพื้นที่ของเกษตรกร เช่น ในสวนยาง ปาล์ม ด้วยการเลี้ยงแพะ แกะ โค กระบือ เป็ด ไก่ หรือปลูกต้นไม้ตามร่องแถว ในอดีตทำไม่ได้แต่ปัจจุบันรัฐบาลอนุญาต ปัจจุบันเศรษฐกิจคู่ขนานแพร่ไปหลายพื้นที่มาก พื้นที่สวนของเกษตรกรสามารถปลูกไผ่ สละ เหลียง เป็ด ไก่ ปลูกหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ เกษตรกรชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม่ต้องพึ่งเศรษฐกิจจากยางหรือปาล์มเท่านั้น แต่จะมีเศรษฐกิจอื่นๆในพื้นที่เดิมของตนเอง จนเศรษฐกิจรองกลายเป็นเศรษฐกิจหลักได้ ขณะที่พื้นที่นาข้าวสภาเกษตรกรก็ส่งเสริมชาวนาให้ทำโครงการ ‘คืนควายสู่นา’  เพื่อสร้างเศรษฐกิจคู่ขนานเช่นกันเพราะควายเป็นสัตว์เศรษฐกิจคู่กับนามาตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่พอประเทศพัฒนาก้าวหน้าก็ส่งเสริมให้ชาวนาใช้ควายเหล็กแทนควายมีชีวิต ควายเหล็กใช้แต่น้ำมัน ชาวนาจึงขายควายมีชีวิตทิ้งหมดเพื่อส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ผลคือฟาง ตอซังต้องเผาทิ้งสร้างมลภาวะเต็มประเทศ หากเลี้ยงควายครัวเรือนละ 1 คู่   จะได้สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หรือในบางครัวเรือนอาจเลี้ยงวัว แพะ แกะ มูลนำมาทำปุ๋ยหมัก

          “ เปลี่ยนปัญหามาเป็นรายได้ซะ เพราะพืชเศรษฐกิจหลักสามารถทำเศรษฐกิจคู่ขนานได้ทุกชนิด เกษตรกร ชาวนาคนไหนเห็นด้วยก็ลงมือทำ สภาเกษตรกรแห่งชาติพยายามผลักดันโครงการต่างๆเท่าที่จะทำได้ แม้ศักยภาพเราไม่มากพอเท่าราชการแต่ก็พยายามผลักดันจนกว่าจะเห็นผลและเกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริง” นายประพัฒน์  กล่าว

                                                                ………………………………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์  สุขีวัย

ภาพ : วัชร  มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว : ภาสันต์  นุพาสันต์