


นายภาสันต์ นุพาสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังเปิดงานและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์” ภายใต้โครงการอบรม “เพิ่มทักษะการประกอบการแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกรเศรษฐกิจฐานรากสู่การตลาดวิถีใหม่( New Normal)” 24-26 ส.ค.63 ณ โรงแรมรอยัล พาวิลเลี่ยน หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า เหตุจากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดการชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าเกษตรล้นตลาดจากการถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ การชะลอการส่งออกสินค้า ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ช่องทางการกระจายสินค้ามีน้อย พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากการซื้อสินค้าตามตลาดท้องถิ่น หรือศูนย์การค้า มาเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และการขนส่งสินค้าใช้ระยะเวลานาน จนทำให้สินค้าทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 11 (8) บัญญัติให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติได้มอบให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กำหนดแนวทางพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร ด้านการประกอบการ ด้านการผลิต แปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาด ซึ่งเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาการเกษตรของรัฐบาลปัจจุบันที่มีนโยบายพัฒนาองค์กรเกษตรกร โดยเพิ่มทักษะการประกอบการ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด การค้าออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ จึงมอบให้สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตร(สสส.) ดำเนินการจัดโครงการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสื่อสารในการสร้างช่องทางการตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์มให้แก่เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรสามารถกระจายสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านระบบตลาดออนไลน์ได้เยี่ยงมืออาชีพ



ด้าน นายเดชา บุญโต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตร(สสส.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตร(สสส.) ดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเพิ่มความรู้และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัลในการสร้างช่องทางการตลาด และจำหน่ายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์มให้แก่เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรให้สามารถปรับตัวขายสินค้ารวมถึงการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ (Marketplaces) เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและยังเป็นการพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต จึงได้จัดทำ “โครงการอบรมเพิ่มทักษะการประกอบการแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกรเศรษฐกิจฐานรากสู่การตลาดวิถีใหม่ (New Normal)” ขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมรอยัล พาวิลเลี่ยน หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรเข้าร่วมรับการอบรมโครงการดังกล่าว 113 คน ด้วยหัวข้ออบรม เรื่อง “มิติใหม่การค้า e-Commerce ยุคใหม่ รับ New Normal “ โดย นายเจษฎา บำเพ็ญอยู่ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ , เทคนิคและศิลปะการจัดทำและนำเสนอภาพประกอบการจำหน่ายสินค้า , การเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม , เทคนิคการเขียน story นำเสนอสินค้า บรรยายและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ โดย นายธนเวช เดชอดุลย์พงค์ นางสาวกำไลทิพย์ ปิยะพิทยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโซไซตี้ จำกัด
“เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะการขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ไปใช้ในการเพิ่มช่องทางการตลาด กระจายสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค และบริหารจัดการการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต เมื่อผ่านการอบรมเกษตรกร/องค์กรเกษตรกรสามารถเข้าสู่แพลตฟอร์ม shopee และ lazada อย่างน้อย 20 กว่าผลิตภัณฑ์ บริหารจัดการด้านตลาดให้สอดคล้องกับการตลาดวิถีใหม่ (New Normal) สร้างรายได้ให้เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรฐานรากได้อย่างยั่งยืนและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตลาดสินค้าเกษตรของประเทศได้เป็นลำดับต่อไป” นายเดชา กล่าวปิดท้าย


………………………………………………………
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : วัชร มีแสงเงิน