นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการประชุมทางไกลออนไลน์เพื่อรับทราบการดำเนินงานของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสื่อสารถึงรัฐบาลด้านความเดือดร้อนของเกษตรกรในภาคชนบท ว่าขณะนี้อ่อนแอและอ่อนแรงมากจนจะล่มสลาย การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลในภาคชนบทขาดความชัดเจนไม่เป็นรูปธรรม ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายมิติมาก เช่น ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน 2 ปี ยังผลให้ภาคการผลิตยากมาก , ปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดส่งผลให้แม้ผลิตสินค้าเกษตรได้ก็ขายยากมาก , ปัญหาที่ทำกินรุนแรงเรื้อรัง , ราคาพืชผลตกต่ำต่อเนื่องหลายปี เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคการเกษตรในชนบทเปรียบเป็นเบาะที่รองรับปัญหาทั้งประเทศในยามที่ต้องเผชิญวิกกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งมาก ในทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตผู้คนจะหลั่งไหลกลับสู่ชนบท อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 แต่ด้วยช่วงนั้นประเทศไทยฝนตกต่อเนื่องตลอด 2 ปี จึงทำให้ภาคชนบทสามารถเป็นเบาะรองรับปัญหาต่างๆได้และฟื้นประเทศชาติได้เร็ว แต่ครั้งนี้แตกต่างเพราะภาคชนบทถูกดูดซับความมั่งคั่งจนอ่อนแรงที่สุด ด้วยสาเหตุหนึ่ง “ฝนก็ไม่ดี น้ำในห้วยก็ไม่มี น้ำในเขื่อนก็เหลือน้อยเต็มที” หากรัฐบาลไม่มีมาตรการฟื้นฟูภาคชนบทให้กลับมาเข้มแข็งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่รองรับสังคมไทยในยามเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ศักยภาพในการรองรับจะนับได้อีกกี่ครั้ง?
อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการเตรียมการมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น การลงไปค้นหาศักยภาพของเกษตรกรในชนบท , การทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลในทุกตำบล , การค้นหาพืชหรือสัตว์เศรษฐกิจใหม่ๆเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีให้เกษตรกรในชนบท เป็นต้น
“ ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาฟื้นฟูภาคชนบทด้วยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการทำการเกษตรบนพื้นฐานศักยภาพ ภูมิปัญญาของเกษตรกรเอง ให้โอกาสเกษตรกรภาคชนบท ผมเชื่อมั่นว่าเราจะเข้มแข็ง แข็งแกร่งมากขึ้น เป็นฐานรากทางสังคมที่เข้มแข็งสามารถที่จะเป็นเบาะรองรับวิกฤติเศรษฐกิจของชาติได้ในระยะยาวต่อๆไป ” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย
……………………………………………………
ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
ภาพ : ทีมสารสนเทศ
วีดีโอ : ทีม สกจ.ลำปาง / วัชร มีแสงเงิน