ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
สภาเกษตรกรจังหวัดพังงา มอบหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินแก่เกษตรกร 328 ราย
นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา ตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 41 (2) กำหนดให้ประสานนโยบายและดำเนินการระหว่างเกษตรกรกับหน่วยงานรัฐ ทางสภาเกษตรกรจังหวัดพังงาได้กำหนดรูปแบบและดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรระดับตำบลกับท้องที่ขึ้น ด้วยรูปแบบที่เรียกว่า “ป่ากอโมเดล” ให้กับเกษตรกร โดยผลการดำเนินงานใน ต.ตากแดด มีเกษตรกร จำนวน 328 ราย พื้นที่ 426 แปลง เนื้อที่ 4,692.55 ไร่ แยกเป็นการปลูกยางพารา 288 แปลง เนื้อที่ 3,421.30 ไร่ , ปลูกปาล์มน้ำมัน 114 แปลง เนื้อที่ 1,136.10 ไร่ , ปลูกไม้ผล 24 แปลง เนื้อที่ 135.15 ไร่ และจากผลการวิเคราะห์การถือครองที่ดินทำกินของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คือ ป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขานากก ประกาศเมื่อ พ.ศ.2510 เกษตรกรทำกิน 125 แปลง ป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขาทุ่งคาโงก ประกาศเมื่อ พ.ศ.2516 เกษตรกรทำกิน 170 แปลง ป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขาโตนดิน ประกาศเมื่อ พ.ศ.2516 เกษตรกรเข้าทำกิน 96 แปลง และป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขานาบอน ประกาศเมื่อ พ.ศ.2523 เกษตรกรเข้าทำกิน 35 แปลง โดยสภาเกษตรกรจังหวัดพังงาและคณะทำงานได้จัดทำหนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินมอบให้แก่เกษตรกรเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 โดยนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ณ ศาลาเอนกประสงค์ หมู่1 ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา นับเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของสภาเกษตรกรจังหวัดพังงาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสและรายได้ของเกษตรกรตามนโยบายเร่งด่วน 12 ด้านของรัฐบาล
สภาเกษตรกรจังหวัดตรังร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐกิจกรรมการจัดทำข้อมูลด้านการผลิตและการเชื่อมโยงตลาด สินค้ากาแฟ ข้าว และไผ่
นายพิพัฒน์ จุติอมรเลิศ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563 สภาเกษตรกรจังหวัดตรังได้เข้าร่วมกิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดตรัง การจัดทำข้อมูลด้านการผลิตและการเชื่อมโยงตลาดในสินค้ากาแฟ ข้าว และไผ่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมลงพื้นที่เพื่อจัดทำข้อมูลความต้องการสินค้าเพื่อเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ได้แก่ กลุ่มกาแฟเทือกเขาบรรทัด ส่งเสริมการปลูกกาแฟในร่องสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้ฟื้นฟูการปลูกกาแฟโรบัสต้าพันธุ์เขาช่องแต่ดั้งเดิม กลุ่มสามารถปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เช่น กาแฟคั่ว กาแฟดริป สบู่กาแฟ ชากาแฟ ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อเดือน วิสาหกิจชุมชนพัฒนาการเกษตรครบวงจรฝายนางน้อย (นาแปลงใหญ่ตำบลนาข้าวเสีย) แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ส่งจำหน่ายให้กับบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด และโรงพยาบาลอำเภอนาโยง ประมาณเดือนละ 2 ตัน และ วิสาหกิจชุมชนไผ่ห้วยยอด และเครือข่ายไผ่จังหวัดตรัง ซึ่งได้ปลูกไผ่พันธุ์ศรีปราจีน กิมซุง โดยผลิตภัณฑ์เป็นหน่อไผ่สด หน่อไม้ดอง หน่อไม้ต้มแช่แข็ง หน่อไม้อบโอ่ง ข้าวหลามอบโอ่ง แกงไตปลาในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งจำหน่ายได้ประมาณ 7 ตันต่อฤดูกาล ไผ่ 1 กอ สามารถทำเงินอย่างต่ำ 2,000 บาท โดยทั้ง 3 กลุ่ม สามารถผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
………………………………………….
เสียง : วัฒนรินทร์ สุขีวัย
เทคนิค : วัชร มีแสงเงิน