สภาเกษตรกรฯเตือนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมรับศึกข้าวหอมมะลิ 3 สายพันธุ์อเมริกา ส่งเสริมปลูกปลายปีนี้ 1 สายพันธุ์

     นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยด้วยความกังวลว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่แสดงสถิติการส่งออกข้าวช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปตลาดต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด มีบางปีที่สัดส่วนขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 30 โดยตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันคือสหรัฐอเมริกา  แต่ตามข้อมูลมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2557 จากเดิมมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิปีละราว 50,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงทุกปี  ต้องเรียนให้ผู้บริหารเรื่องข้าวของประเทศพิจารณาและเตือนไปยังพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิเตรียมปรับตัว   ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ลดลงเพราะประเทศสหรัฐอเมริกาตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันปีละราว 10,000 ล้านบาทนั้น ได้ปรับปรุงพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ ถึง 3 สายพันธุ์ โดยมหาวิทยาลัยอาร์แคนซัสพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์จัสมิน“Aroma17” คุณสมบัติมีกลิ่นหอมทัดเทียมข้าวหอมมะลิของไทย ให้ผลผลิตสูง 7,740 ปอนด์/เอเคอร์ (1,388 กก./ไร่) มีอัตราการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเฉลี่ยที่ระดับ 71%  ,  มหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนาพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์จัสมินCLJ 01” คุณสมบัติมีกลิ่นหอมทัดเทียมข้าวหอมมะลิของไทย เมล็ดข้าวสวย มีท้องไข่น้อย ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวหอมที่มหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนาพัฒนาก่อนหน้า 30% (ข้าว Jazzman)โดยให้ผลผลิตสูง 1,645 กก./ไร่ ,  และมูลนิธิวิจัยข้าวแคลิฟอร์เนียพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์จัสมินCalaroma 201” คุณสมบัติมีกลิ่นหอมแต่น้อยกว่าจัสมินARoma17 มีปริมาณอมิโลสน้อย(Low amylose) และเป็นแป้งชนิดที่มีความคงตัวของแป้งสุกอ่อน(Low gel type) เมื่อหุงต้มจะได้ข้าวที่มีความอ่อนนุ่มสูงและให้ผลผลิตสูง 9,450 ปอนด์/เอเคอร์ (1,695 กก./ไร่)   ซึ่งพันธุ์จัสมิน Aroma17 ของมหาวิทยาลัยอาร์แคนซัสได้วิจัยและทดลองในแปลงเสร็จสิ้นแล้ว และจะเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 เป็นต้นไป

หากเป็นดังกล่าวน่าห่วงใยเกษตรกรไทยมากเพราะนอกจากคู่แข่งส่งออกข้าวหอมมะลิเดิมของไทยคือ อินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม บังคลาเทศ เมียนมาร์ กัมพูชา ที่ล้วนมีข้าวหอมพันธุ์ดีแข่งขันกันอยู่ในตลาดโลกแล้ว หากมีคู่แข่งเพิ่มคือสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน

“ การที่เกษตรกรไทยปลูกข้าวเพื่อขายและประเทศไทยต้องค้าขายข้าวไปต่างประเทศ ถ้าไม่รู้ข้อมูลของคู่แข่ง/คู่ค้าถือว่าอันตรายมาก แต่เมื่อรู้ข้อมูลนี้ด้วยความห่วงใยต้องขอฝากผู้รับผิดชอบทั้งด้านการผลิตข้าว และการค้าข้าวต้องช่วยกันค้นหาข้อมูลและเตรียมการตั้งรับ เตรียมการแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยรีบด่วน” นายประพัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวต่อไปว่า “ ประเทศไทยโดยผู้เกี่ยวข้องควรวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อจะหนีจากคู่แข่งและเพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านข้าวหอมของโลกไว้ให้ได้ หากปล่อยไปจนประเทศไทยสูญเสียตลาดส่วนนี้มีผลกระทบต่อชาวนาอย่างมากแน่นอน สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงเตือนไปยังชาวนาด้วยความห่วงใยนอกจากจะหวังพึ่งพาภาครัฐแล้ว พี่น้องชาวนาต้องสนใจใฝ่ศึกษาข้อมูลเหล่านี้เพื่อจะได้นำไปปรับตัวในการผลิตและต้องเป็นทั้งผู้บริหารเรื่องข้าวและควรศึกษาร่วมกับการระแวดระวังภัยพร้อมปรับตัวไม่ให้คู่แข่ง/คู่ค้าแซงหน้าอันจะทำให้มีผลกระทบต่อชาวนาและตลาดข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งท้ายสุดเกษตรกรคือผู้รับผลกระทบหนักที่สุด ”

………………………………………………………………………………..

ข่าว : วัฒนรินทร์ สุขีวัย

ภาพ : วัชร มีแสงเงิน

อำนวยการข่าว : ภาสันต์ นุพาสันต์