การประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2567 ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)

วันพุธที่ 11 กันยายน 2567 นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานและดำเนินการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2567 ดัวยระบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และที่ทำการสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด 77 จังหวัด

ในวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติได้นำปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น อยู่ในขณะนี้ เข้าหารืออย่างเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องตามระเบียบแบบแผน โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัด 77 จังหวัด เพื่อเก็บข้อมูล ประสานงานติดตามสถานการณ์ และประสานการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบตามกรอบอำนาจหน้าที่ ตลอดจนจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุอุทกภัย โดยมีประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัด 77 จังหวัด เป็นประธานศูนย์ฯ ซึ่งในขณะนี้มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัยได้รับความเสียหาย จำนวน 20 จังหวัด และจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 20 จังหวัด ซึ่งที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้มีแนวทางการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาพี่น้องเกษตรกร ดังนี้

  1. การระดมทุนเพื่อบริจาคให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยให้ดำเนินการตามกรอบของอำนาจหน้าที่ที่สามารถกระทำได้
  2. การลงพื้นที่ของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อสำรวจความเสียหาย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
  3. แนวทางขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล อาทิเช่น การขอเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์ข้าวต่างๆ

โดยที่ประชุมได้มีมติให้ศูนย์ประสานงานฯ ดำเนินการ และรายงานความคืบหน้า ภายใน 7 วัน

ต่อจากนั้นที่ประชุมได้รายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ได้แก่

  1. คณะกรรมการกิจการสภาเกษตรกรแห่งชาติ
  2. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร
  3. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งของเกษตรกรและเครือข่าย
  4. คณะกรรมการจัดทำและขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
  5. คณะกรรมการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร

และได้มีการรายงานความคืบหน้าการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืนรวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยคณะทำงานร่างกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากช้างป่า

หลังจากนั้น ที่ประชุมสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการพิจารณา ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

  1. ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการกำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันเพื่อแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดย สภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคใต้
  2. ร่างข้อเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน โดย สภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง
  3. ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องแก้ไขปัญหาราคาโคตกต่ำ โดย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร
  4. ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายการสร้างแรงจูงใจไม่เผาในพื้นที่เกษตร โดย สภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคเหนือ

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว และได้มอบหมายให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

____________________________________________

ข่าว : อรรจนา บุณยรัตพันธุ์

ภาพ : พิเชษฐ์ บุญสนอง

อำนวยการข่าว : อภิวัฒน์ มีลาภ